การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการผมร่วงผมบางด้วยวิถีธรรมชาติและโภชนาการ

รักษาผมร่วงบางครั้งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยารักษา ปฏิบัติตัวและบริโภคอาหารและวิตามินให้ถูกต้องก็พอ

รักษาผมร่วงโดยไม่ต้องใช้ยากินปลูกผม ใช้การปฏิบัติตัว เสริมอาหารโภชนาการและวิตามิน

การจะรักษาผมร่วงให้ได้ผลดีโดยไม่ต้องพึ่งยากินจำเป็นจะต้องมีแนวทางการปฏิบัติตัวและความรู้ทางโภชนาการสำหรับผมร่วงเกี่ยวกับอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมที่ดีพอสมควรเพื่อการดูแลสุขภาพเส้นผมให้ดีลดการหลุดร่วงของเส้นผมโดยไม่จำเป็น

รักษาผมร่วงด้วยวิถีธรรมชาติเน้นบริโภคอาหารที่อุดมด้วยแร่ธาตุ โปรตีนและวิตามินที่สำคัญ

รักษาผมร่วงด้วยวิถีธรรมชาติเน้นบริโภคอาหารที่อุดมด้วยแร่ธาตุ โปรตีนและวิตามินที่สำคัญ

ผมมีกรรมพันธุ์ศีรษะล้านอยู่ครับ ตอนนี้เริ่มมีอาการผมร่วงแล้ว แต่ไม่อยากใช้ยาครับกลัวผลข้างเคียง ผมควรจะเน้นเรื่องอาหารการกินแบบไหนดีครับ

ลักษณะแบบของคุณจะได้ประโยชน์มากในการใช้อาหารและโภชนาการที่ดีเพื่อดูแลรักษาอาการผมร่วง ในคนที่มีแนวโน้มจะมีผมร่วงผมบางจากพันธุกรรมอยู่แล้วถ้ายังไม่มีอาการผมร่วงแบบน่าวิตกหรือยังไม่แสดงอาการศีรษะล้านชัดเจนการใช้วิตามินรักษาผมร่วงและโภชนาการจะได้ประโยชน์มาก อาหารที่แนะนำส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน B3, B5, B6 และโฟลิคมากๆ ลองดูคำแนะนำเรื่องอาหารการกินด้านล่างนี้จะมีประโยชน์มากทำให้รากผมแข็งแรงถ้าบริโภคเป็นกิจวัตรต่อเนื่องกันเป็นแรมปี

  1. โปรตีนจากพืชหรือพืชตระกูลถั่วสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างเส้นผม กินนมถั่วเหลืองมากๆ แล้วคุณจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจมากว่าเส้นผมคุณมีความแข็งแรงมากขึ้น
  2. วิตามินเอ ในปริมาณที่พอเหมาะช่วยรักษาอาการผมร่วงได้ คนที่ขาดวิตามินเอเรื้อรัง จะมีผมร่วงและรังแคง่าย วิตามินเอมีมากในพืชผักสีเขียวและผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ฟักทอง แครอท เป็นต้น
  3. วิตามินบี6 โฟลิค และ B12 ช่วยในการคงสภาพเม็ดเลือดแดงให้นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์รากผมได้ดีขึ้น อาหารที่แนะนำคือ ผักใบใหญ่เขียว เช่น ผักคะน้า บ็อคเคอร์รี่ ตับหมู เป็นต้น
  4. ธาตุเหล็ก เป็นอีกตัวที่ช่วยเรื่องการนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ในผู้หญิงที่มีโลหิตจางมักจะขาดธาตุเหล็ก มีอาการอ่อนเพลียง่ายโดยเฉพาะช่วงมีรอบเดือน ร่างกายดูซีดเซียว ผมร่วง อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเช่น ตับอ่อนหมู ปอดหมู เลือดวัว ไข่กุ้ง หอยแมลงภู่ กะปิ หอยนางรม กุ้งฝอย หอยเสียบ หอยขม ถั่วแดงดิบ งาดำคั่ว เม็ดบัว ถั่วดำ เป็นต้น
  5. สังกะสี คนที่ขาดสังกะสีมากๆจะทำให้มีรังแคและผมร่วงผิวหนังแห้ง อาหารที่มีสังกะสีสูงเช่น หอยนางรม จมูกข้าว ตับลูกวัว แป้งงาและเนยงา เมล็ดฟักทอง-น้ำเต้าคั่ว เมล็ดแตงโม หรือเม็ดกวยจี๊ เป็นต้น
  6. ซิลิก้า ซิลิก้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพของผมผิวและเล็บ อาหารที่มีซิลิก้าสูงเช่น สาหร่ายทะเล(หญ้าชนิดหนึ่ง), ผักใบเขียวเข้ม, หางม้า, ตำแย, flaxseed, ผลไม้จำนวนมากรวมทั้ง แอปเปิ้ล, องุ่น, ถั่วเมล็ด, หัวหอม, ผลเบอร์รี่ (รวมทั้งสตรอเบอร์รี่), ผักกาดหอม, มะเดื่อ, ดอกแดนดิไลอัน, แตงกวา ถั่วแห้งและถั่วสุก, เมล็ดทานตะวัน, มะเขือเทศ เป็นต้น
  7. อาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูงเช่น กุ้ง ปลาหมึก มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับการสร้างฮอร์โมน DHT เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ตับไก่ สมองหมู ปลาหมึกสด เป็นต้น

ผิวหนังอักเสบ รังแคและอาการคันหนังศีรษะที่พบร่วมกับอาการผมร่วง

ผิวหนังอักเสบ รังแคและอาการคันหนังศีรษะที่พบร่วมกับอาการผมร่วง

ผมอายุ 35 ปี มีอาการคันหนังศีรษะบ่อย ๆ อยากทราบว่าเกิดจากอะไรครับ รักษาได้ไหมครับ

อาการคันหนังศีรษะพบได้บ่อย การรักษาก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการคันนั้นๆ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ หนังศีรษะแห้ง (dry scalp) ที่พบมากเป็นลำดับถัดมาได้แก่รังแค (dandruff), ผิวหนังต่อมไขมันอักเสบ (seborrheic dermatitis), สะเก็ดเงิน (scalp psoriasis), ผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis), เชื้อรา, เหา, รากผมอักเสบ (hair follicle inflamation), การติดเชื้อหนองที่หนังศีรษะ
หนังศีรษะแห้ง สาเหตุเกิดจาการใช้แชมพูที่มีฤทธิ์แรงเกินไปในการสระผมหรือการใช้สารเคมีที่รุนแรง เช่น โลชั่นใส่ผม หรือ สารแต่งผมที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหรือการสระผมบ่อยเกินไป
วิธีการรักษา ก็คือหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าวและอาจใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวหมักไว้สักครู่ก็สระผม จะค่อย ๆ ช่วยให้หนังศีรษะแห้งน้อยลงได้
รังแค ส่วนใหญ่ถ้ามีรังแคพียงเล็กน้อยจะไม่ทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ ในกรณีที่เป็นค่อนข้างมาก มักมีการติดเชื้อราร่วมด้วย อาการของมันคือ มีแผ่นขาว ๆ ที่หนังศีรษะบริเวณเส้นผม หรืออาจตกมาอยู่ที่บริเวณปกเสื้อหรือหลัง ทำให้เกิดอาการคันได้ทั่วทั้งหนังศีรษะ วิธีการรักษาคือใช้แชมพูสำหรับรักษารังแค สระผมทุกวันจนกว่าจะดีขึ้น ซึ่งมักจะมีส่วนผสมของสารดังต่อไปนี้ได้แก่ ซิงค์ไพริไทออน (Zinc pyrithione), ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือ ทาร์แชมพู (Tar - based shampoos)
ผิวหนังอักเสบ อาการมักพบเป็นแผ่นเล็กๆ บริเวณหนังศีรษะ ผิวโดยรอบมักแดง อาจพบผื่นลักษณะเดียวกันบริเวณข้างจมูก ไรผม คิ้ว หน้าอก หลัง การรักษาโดยการใช้ ครีมสเตียรอยด์ (Steroid cream) ทาบริเวณที่เป็น ผื่นแพ้สัมผัส สารเคมีบางอย่างที่ใช้กับเส้นผมหรือหนังศีรษะอาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ เช่นน้ำยาย้อมผม น้ำยาดัดผม ทำให้หนังศีรษะแดงเป็นขุย หรือเป็นสะเก็ดหลุดลอกออก บางรายเป็นมากถึงขั้นมีน้ำเหลืองซึมออกมา
การรักษาคือ หยุดใช้สารเคมีเหล่านั้น แล้วในระยะเฉียบพลันถ้ามีน้ำเหลืองซึมออกมา ควรใช้การทำความสะอาดเช็ดด้วยน้ำเกลือจนการอักเสบทุเลาลงแล้วรักษาด้วยครีมสเตียรอยด์
โรคสะเก็ดเงิน จะพบมีสะเก็ดสีเงินหนาที่บริเวณหนังศีรษะ เมื่อพยายามลอกสะเก็ดออกจะมีเลือดออก ผิวหนังบริเวณใต้สะเก็ดจะเป็นผื่นหนาสีชมพู โรคนี้มีวิธีรักษาได้หลายอย่างขึ้นกับความรุนแรงที่เป็นดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการรักษาที่เหมาะสม

รักษาผมร่วงด้วยการปฏิบัติตัวเบื้องต้นด้วยกฏเหล็ก 6 ข้อง่ายๆ

รักษาผมร่วงด้วยการปฏิบัติตัวเบื้องต้นด้วยกฏเหล็กง่ายๆ

ผมอายุ 28 ครับตอนนี้ผมร่วงมากเลย เวลาสระผมที มันหลุดออกมาเป็นกำๆ จะต้องทำอย่างไรครับ ที่บ้านก็ไม่มีใครหัวล้านเลย

สาเหตุผมร่วงมีได้มากมายหลายสาเหตุมาก เรื่องกรรมพันธุ์เป็นเรื่องที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชายแม้ว่าจะไม่มีประวัติพ่อแม่หรือคนที่บ้านมีปัญหาผมร่วงผมบางก็ไม่ได้บอกว่าคุณไม่มียีนศีรษะล้านอยู่ในตัว การจะวินิจฉัยว่าเป็นผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์ให้ดูรูปแบบที่ผมบาง ในผู้ชายจะมีลักษณะเฉพาะตัววินิจฉัยได้จากการดูด้วยตาเปล่าก็พอ ในเบื้องต้นไม่ว่าสาเหตุผมร่วงจะมาจากสาเหตุอะไรให้ปฏิบัติตามกฏเหล็ก 6 ข้อด้านล่างนี้เป็นการรักษาผมร่วงเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อน

  1. ลดหรืองดอาหารเค็มและอาหารมัน เพราะอาหารมันที่กินเข้าไปจะถูกนำไปสร้างไขมันมากขึ้นทำให้ผมเส้นเล็กๆร่วงง่ายถ้ามีหนังศีรษะมัน
  2. ลดหรืองดชากาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนนอกจากจะทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัวแล้วยังทำให้หัวใจเต้นเร็วมีผลโดยตรงต่อการนำสารอาหารไปเลี้ยงรากผม คนที่กินชากาแฟบ่อยเป็นกิจวัตรนอกจากจะเสี่ยงต่อเรื่องภาวะเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันแล้วรากผมมีแนวโน้มจะอ่อนแอหลุดร่วงง่ายกว่าปกติ
  3. ลดหรืองดบุหรี่ อุปสรรคอย่างหนึ่งของการรักษาผมร่วงคือยังคงสูบบุหรี่จัดทำให้เส้นเลือดฝอยตีบตันและแข็งตัวเป็นผลโดยตรงต่อการนำเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงรากผม
  4. งดแอสปาแตมหรือน้ำตาลเทียม ที่ผสมอยู่ในน้ำอัดลมสีดำทั้งหลายที่โฆษณาว่า 0 แคลลอรี่
  5. งดผงชูรสเพราะผงชูรสระคายเคืองต่อผนังลำไส้ทำให้การดูดซึมวิตามินบีลดลง (วิตามินบี 3 5 6 จำเป็นต่อการสร้างเส้นผมมากที่สุด)
  6. งดสารเคมีทุกชนิดที่ใช้กับหนังศีรษะไม่ว่าจะเป็น แว็กซ์ เจล สเปรย์ หรือ มูสส์แต่งผม นอกจากนี้ ต้องหยุด ย้อมผม โกรกผม ยืดผม ดัดผม แบบสิ้นเชิง

ถ้าทำได้ใน 6 ข้อข้างต้นจะทำให้ลดบรรเทาปัญหาผมร่วงไปได้มาก การทำเช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาผมร่วงได้ด้วย หากใช้โภชนาการดีๆ เสริมยิ่งจะทำให้อาการหลุดร่วงของผมลดลง

อาการผมร่วงที่พบในผู้หญิง

สาเหตุของอาการผมร่วงที่พบในผู้หญิง

ดิฉันอายุ 38 ปี เริ่มมีอาการผมร่วงเมื่อ 5-6 เดือนก่อน ในตอนแรกดิฉันไม่ได้ใส่ใจเท่าไรแต่ต่อมาผมเริ่มร่วงมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันลองสอบถามเพื่อนๆ ดูไม่มีใครมีประสบการณ์ด้านนี้เลย จะทำอย่างไรดีค่ะ

ผมร่วงในผู้หญิงพบได้ไม่บ่อยเท่าในผู้ชาย พบได้ประมาณเกือบหนึ่งในสามของผู้หญิงทั้งหมด ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ก็พบได้บ้างในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป ผมร่วงที่มากกว่าปกติ คือ ผมร่วงมากกว่า 100 เส้นขึ้นไป แล้วสังเกตพบว่าผมเริ่มบางลงกว่าที่เคย ส่วนใหญ่ผมร่วงในผู้หญิงวัยสาวมักเป็นชั่วคราวและมีสาเหตุที่แก้ไขได้ ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ สาเหตุของผมร่วงในผู้หญิง ที่พบทั่วๆไปได้แก่

  1. ความผิดปกติของฮอร์โมนใดๆ ก็ตามที่ทำให้การสร้างฮอร์โมน ดีเอชที (DHT - Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดผมร่วงศีรษะล้านแบบกรรมพันธุ์ ที่พบมากในผู้ชาย โดยปริมาณฮอร์โมน DHT มีมากขึ้น หรือมีการสร้างเอ็นไซม์ อโรมาเทส (enzyme aromatase) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่รับผิดชอบต่อการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรนและเอสตราไดออล (estrone and estradiol) ลดลงทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย (androgens and estrogens) เช่น ภาวะวัยทอง, วัยหมดประจำเดือน,หรือเป็นเนื้องอกที่รังไข่บางชนิดที่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศชายได้มากๆ
  2. ภาวะผมร่วงหลังคลอด อาจพบได้หลังคลอดตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และมักจะเป็นอยู่ประมาณ 6-12 เดือน สามารถดีขึ้นเองได้แม้ไม่ได้รับการรักษา
  3. การขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างเส้นผม เช่น ขาดวิตามินบี, ขาดธาตุสังกะสี, ขาดธาตุเหล็ก, ขาดโปรตีน หรือกรดไขมันจำเป็น (vitamin b, zinc, iron, protein, essential fatty acid deficiency) การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก,โรคอนอเรกเซีย - บูลิเมีย (anorexia, bulimia) เป็นต้น
  4. โรคบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ (ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ - Hypothyroid หรือ ไทรอยด์ฮอร์โมนสูง - Hyperthyroid), โลหิตจาง, โรคตับ, โรคไต, โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune diseases) เช่น เอสแอลอี (SLE)
  5. ยาคุมกำเนิด สามารถพบได้ทั้งในผู้ที่เริ่มกินยาคุมกำเนิดหรือหยุดกินยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดเป็นฮอร์โมนเพศแบบหนึ่ง จึงทำให้สมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้เกิดผมร่วง ผมบางได้
  6. ภาวะผมร่วงหลังการเจ็บป่วย เช่น ไข้สูง, หรือหลังการผ่าตัด, หลังการดมยาสลบ
  7. ภาวะผมร่วงที่พบในผู้หญิงที่มีประวัติประจำเดือนมาผิดปกติ คือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ขาดหายไปเป็นช่วงๆ มีลักษณะเด่นการแสดงออกว่ามีฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น เช่น มีสิวขึ้นเยอะ หน้ามัน หนังศีรษะมัน มีกลิ่นตัวแรง มีหนวดเคราขึ้น ทั้งๆที่ในอดีต การแสดงออกลักษณะดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อนเลย กลุ่มนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากมี ซีสต์ที่รังไข่ชนิดสร้างฮอร์โมนเพศชายมากไป (Polycystic Ovary Syndrome - PCOS)
  8. ผมร่วงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง, ยารักษาโรคเก๊าฑ์, วิตามินเอในขนาดสูง - ยาที่อาจทำให้ผมร่วงได้
  9. ภาวะ ผมร่วงเป็นวง จะเกิดตำแหน่งไหนก็ได้ จะเป็นวงกลมหรือวงรีก็ได้ อาจจะมีวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ มักสัมพันธ์กับความเครียดวิตกกังวล พักผ่อนน้อย
  10. ภาวะอารมณ์เครียดสูงเรื้อรังทำให้มีภาวะผมร่วงเรื้อรังแบบกระจายทั่วศีรษะ (Chronic telogen effluvium)

ผมร่วงในผู้หญิงจะพบทั่วๆไป เป็นผมบางทั่วๆ ศีรษะ มีส่วนน้อยที่พบว่าทำให้เกิดศีรษะล้านเฉพาะที่ เช่น บริเวณกลางกระหม่อมแบบในเพศชาย เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากฤทธิ์ของฮอร์โมน ดีเอชที ที่ทำให้เกิด ศีรษะล้านแบบกรรมพันธุ์ (androgenetic alopecia) ซึ่งพบมากในเพศชาย ดังนั้นการรักษาโดย การใช้ยาที่ต้านการออกฤทธิ์หรือการสร้างฮอร์โมนดีเอชที เช่น ยาฟิแนสเตอไรด์หรือ โพรพีเชีย (finasteride or propecia) ที่ใช้ได้ผลดีในผู้ชาย จึงมักได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลยในการรักษาผมร่วงในผู้หญิง ถึงแม้ว่ายากลุ่มนี้จะมีข้อห้ามในการใช้ในผู้หญิงแต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่มีผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์นำมาใช้แล้วได้ผลแต่ไม่ปลอดภัยหากผู้หญิงที่ใช้ อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ถ้าตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยาอาจจะทำให้ทารกพิการได้ วิธีการรักษาผมร่วงในผู้หญิงที่ถูกต้อง จึงต้องค้นหาสาเหตุ และแก้ไขที่สาเหตุเหล่านั้น การรักษาจึงจะได้ผลดีที่สุด
ผมร่วงเฉพาะที่ในผู้หญิงที่อาจพบได้ มีลักษณะเป็นวงกลมเฉพาะจุด อาจพบเป็นวงเดียวหรือหลายวงก็ได้เรียกว่า ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่อตนเอง (Autoimmune disease) และอาจพบได้เป็นกรรมพันธุ์ ส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองได้ การรักษาโดยทั่วไปมักใช้ยาสเตียรอยด์ (steroids)

ผมร่วงผมบางในผู้ชายสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์

ผมร่วงผมบางในผู้ชายสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์

ผมอายุ 40 ปี สังเกตว่าผมบริเวณส่วนกลางของศีรษะเริ่มบางลง และบริเวณหน้าผากเริ่มร่นขึ้นไป สังเกตเห็นประมาณ 1 ปี จะรักษาได้ไหมครับ

จากอาการของผมร่วงที่เล่ามา เข้าได้กับผมร่วงศีรษะล้านแบบผู้ชาย (male pattern baldness) ซึ่งเป็นผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย สาเหตุเกิดจากฮอร์โมน โดยมีพันธุกรรมเป็นปัจจัยส่งเสริม
เส้นผมของคนเราโดยปกติจะยาวประมาณ 1/2 นิ้วต่อเดือน ผมแต่ละเส้นจะมีอายุประมาณ 2-6 ปี แล้วร่วงไป โดยจะมีเส้นผมใหม่งอกขึ้นมาแทนที่เส้นผมเก่า ประมาณ 85% ของเส้นผมบนศีรษะในช่วงเวลาหนึ่งๆ จะอยู่ในระยะที่ยาวได้ (growing phase) และอีก 15% จะอยู่ในระยะพัก (resting phase) คือจะไม่ยาวต่อไปอีก
เส้นผมจะงอกออกมาจากรากผมซึ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ศีรษะล้านในผู้ชายเกิดจากการที่รากผมค่อยๆ ฝ่อเหี่ยวลงเหี่ยวลงจนถึงระยะเวลาหนึ่ง เส้นผมที่เกิดจากรากผมอันนั้นเล็กลงและยาวได้น้อยลง ในที่สุดถ้ารากผมมีขนาดเล็กมากๆ จะไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ขึ้นได้ ถ้าปล่อยไว้เป็นระยะนานต่อไปอีกรากผมอันนั้นจะไม่สามารถสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้อีกเลย เป็นเหตุให้เกิดศีรษะล้านถาวร สาเหตุที่ทำให้รากผมมีขนาดเล็กลงเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะฮอร์โมนดีเอชที (DHT) ซึ่งพบมากในเพศชายที่มีปริมาณฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? เชื่อว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรม (gene) มาเกี่ยวข้อง
การตรวจวินิจฉัยผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์ในผู้ชายได้จาก ลักษณะของผมบางศีรษะล้านที่พบ โดยจะมีลักษณะเฉพาะคือ ผมบริเวณหน้าผากร่นสูงขึ้นไปเป็นรูปตัว M ผมที่เหลืออยู่ดูเส้นบางลงและไม่ค่อยยาว ผมบริเวณส่วนกลางของศีรษะบางลง ในบางรายถ้าปล่อยให้ผมบางศีรษะล้านมาบรรจบกันจะมองเห็นเป็นรูปเกือกม้า (horseshoe shape)
แต่ถ้าพบว่าผมร่วงลักษณะเป็นกระจุก เป็นวง ผมร่วงกระจายทั่วทั้งศีรษะ ผมมีการแตกปลาย หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงแดง มีสะเก็ด เจ็บ หรือผมร่วงอย่างรวดเร็ว ให้สงสัยว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่า
การรักษา ที่สำคัญต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาอาจไม่มีความจำเป็น ถ้าคุณยอมรับและเข้าใจว่าผมร่วงลักษณะนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ทำให้เกิดโรคร้ายแรง เพียงแต่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและรูปลักษณะภายนอกที่คนอื่นมองเห็นเท่านั้น การรักษาโดยการใช้ยานั้นทำให้ผมขึ้นได้และคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งไม่คงทนถาวร เมื่อหยุดยาไประยะหนึ่งผมจะกลับมาร่วงอีก เมื่อผมร่วงใหม่ก็อาจกลับมาใช้ยาได้อีก เป็นวงจรเช่นนี้ เนื่องจากผมร่วงชนิดนี้เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในร่างกายของเราเอง ยาที่ใช้หลัก ๆ จะมี 2 ชนิด ได้แก่
1. ยาไมนอกซิดิล (minoxidil) อยู่ในรูปของยาเม็ดใช้กิน หรือยาน้ำที่ใช้หยดหรือทาลงไปบริเวณหนังศีรษะที่เกิดผมร่วง ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นผมอ่อนขึ้นมาใหม่ ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ ถ้าเป็นชนิดกินอาจทำให้เกิดความดันต่ำ หน้ามืด บวม ในบางคนได้ เนื่องจากเดิมยาตัวนี้ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง และทำให้เกิดขนขึ้นในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายด้วยเช่น หนวด เครา ใบหู ยาทาผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยและปลอดภัยกว่า สามารถใช้ไปเป็นระยะเวลานานๆ ได้ ผลข้างเคียงทุกอย่างจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา
2. ยาฟิแนสเตอร์ไรด์ (Finasteride) ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ดีเอชที (DHT - dihydrotestosterone) ยาชนิดนี้ช่วยทำให้ผมร่วงน้อยลงมากกว่ากระตุ้นให้เกิดการสร้างผมใหม่ ยาชนิดนี้โดยทั่ว ๆ ไปให้ผลดีมากกว่าไมนอกซิดิล
ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงน้อย แม้ว่าจะใช้ไปเป็นระยะเวลานานก็ตาม ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็คืออาการแพ้ยา และ สมรรถภาพทางเพศลดลง ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งพบได้ประมาณ 2% ของผู้ใช้ยาทั้งหมด ผลข้างเคียงดังกล่าวสามารถหายได้เมื่อหยุดใช้ยา
ผลข้างเคียงที่สำคัญอีกอย่างคือ ทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ถ้าผู้หญิงที่ใช้ยานี้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรับรองให้ใช้ยานี้รักษาผมร่วงในผู้หญิง ยาทั้ง 2 ชนิดจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ไปได้ตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป
ยาฟิแนสเตอไรด์ค่อนข้างปลอดภัย มีรายงานว่าไม่พบอันตรายอะไรแม้จะใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปีก็ตาม อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานตลอดไป เมื่อได้ผลเป็นที่พึงพอใจระดับหนึ่ง แล้วควรหยุดยาก่อน เมื่อผมกลับมาร่วงใหม่อาจกลับมาใช้ยาได้อีก ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพื่อให้ได้ผลดีและปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้ที่สุด
การรักษาโดยการปลูกผมหรือศัลยกรรมปลูกผมถาวร ได้แก่การนำรากผมหรือย้ายเซลล์รากผมบริเวณที่ยังดีอยู่มาปลูกแทนที่บริเวณที่ศีรษะบางหรือศีรษะล้าน เป็นวิธีที่ทำให้ผมในบริเวณที่บางลงหรือล้านมีผมขึ้นมาแทนที่อย่างถาวร แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจต้องทำหลายๆ ครั้งจนกว่าบริเวณศีรษะล้านหรือบางจะมีผมขึ้นมาจนเป็นที่พอใจ
ทางเลือกอื่นๆ ที่อาจทำได้ ได้แก่ การใช้วิกผม การเลือกทรงผมที่ทำให้ผมดูมีมากขึ้น การตัด การดัด อาจทำได้ในกรณีที่คุณยังไม่อยากทำอะไรมากมาย

ปลูกผมด้วยวิธีศัลยกรรมปลูกผมถาวร ก่อนทำควรคิดให้ดี ดูข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ

ปลูกผมด้วยวิธีศัลยกรรมปลูกผมถาวร ก่อนทำควรคิดให้ดี ดูข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ

ผมอายุ 39 ปี แล้วมีปัญหาผมบางจากกรรมพันธุ์ รักษาด้วยการกินยาประคองมาได้ 12 ปีแล้วแต่ตอนนี้ยาทำท่าจะเอาไม่อยู่ ผมยังคงร่วงตลอดและบางลงเรื่อยๆ เบื่อการกินยามาก มีความคิดว่าจะไปทำศัลยกรรมปลูกผม ไม่ทราบว่าการทำศัลยกรรมปลูกผมได้ผลจริงไหม? หลังทำยังต้องกินยาอยู่ไหมครับ? ผมที่ขึ้นจากการทำศัลยกรรมขึ้นได้เป็นผมปกติหรือเป็นขนอ่อนครับ?

คนที่มีปัญหาลักษณะนี้มีมากเหลือเกิน การใช้ยาต่อเนื่องมา 12 ปี ควรมีการตรวจสุขภาพเช็คการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง
คนทีมีปัญหาผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์ การใช้ยาเป็นการประคองยื้อกับธรรมชาติที่กำหนดมาให้เราศีรษะล้านเมื่อถึงจุดหนึ่งยาที่เคยใช้มาก็จะเอาไม่อยู่ เพราะมีอายุมากขึ้นเซลล์รากผมเริ่มเสื่อมสภาพร่วม ถ้ามีโรคประจำตัวเพิ่มเข้ามาเช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง โรคประจำตัวเหล่านี้ก็จะเป็นตัวบั่นทอนความสมบูรณ์ของรากผม ทำให้ผมร่วงและบางมากกว่าเมื่อก่อน การทำศัลยกรรมปลูกผมเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่ยังวิตกเรื่องบุคลิกผมร่วงผมบาง อย่างไรก็ตามมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปลูกผมโดยใช้ศัลยกรรมที่ควรทราบไว้ประกอบการพิจารณาดังนี้

  • การปลูกผมด้วยวิธีศัลยกรรมสามารถทำได้จริงและเป็นการใช้ผมของตัวเองบริเวณท้ายทอยที่ต้องมีในปริมาณมากพอ ย้ายแต่ละเซลล์มาปลูกในบริเวณที่มีผมบาง การแยกเซลล์รากผมแต่ละรากแต่ละกอ จำเป็นต้องทำภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายประมาณ 10 เท่า ถ้าเส้นผมที่บริเวณท้ายทอยมีน้อยและพื้นที่ที่จะปลูกผมหรือบริเวณศีรษะล้านมีขนาดใหญ่ก็จะไม่สามารถทำศัลยกรรมปลูกผมได้
  • ผมที่ย้ายมาปลูกเป็นผมจริงและขึ้นยาวได้จริงเป็นผมปกติไม่ใช่ขนอ่อน ผมที่ขึ้นใหม่จะอยู่กับคุณไปตลอดชั่วชีวิต
  • หลังทำศัลยกรรมปลูกผมแล้วทุกคนคาดหวังว่าจะไม่ต้องกินยาอีก ซึ่งยังเป็นเรื่องที่บางคนยังเข้าใจไม่ถูกต้อง จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่หลังทำศัลยกรรมแล้วไม่ต้องกินยาอีก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ หลังทำศัลยกรรมปลูกผมแล้วยังต้องกินยาเพื่อประคองผมส่วนอื่นที่ยังไม่ได้ทำศัลยกรรม
  • หลังทำศัลยกรรมปลูกผมด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมทำกันอยู่โดยทั่วไป (FUT - Follicular Unit Transplantation) จะมีแผลผ่าตัดเป็นเส้นตรงตามแนวนอนที่บริเวณท้ายทอย ถ้าไว้ผมด้านหลังยาวประมาณ 2 ซม. ก็จะยาวลงมาปกคลุมแผลเป็นทำให้มองไม่เห็นแผลเป็นจากการผ่าตัด
  • ก่อนจะทำการผ่าตัดควรหยุดยาที่ใช้รักษาผมร่วง เช่น ฟีแนสเตอร์ไรด์, ไมนอกซิดิล หรือยากระตุ้นให้ผมยาวเร็วตัวอื่นๆ อย่างน้อย 4-6 เดือน เพื่อให้มองเห็นตำแหน่งที่ผมบางจริงๆ เพื่อให้หมอศัลยกรรมปลูกผมมองเห็นและทำการปลูกผมให้ในตำแหน่งที่ผมบางจริงๆ มิฉะนั้นการปลูกผมจะทำได้ไม่สม่ำเสมอในตำแหน่งที่ผมบางและเมื่อหยุดยากินหลังผ่าตัดผมที่ขึ้นจะขึ้นมาห่างๆทำให้ไม่สวยงาม : : ประเด็นการหยุดยาเร่งผมก่อนทำผ่าตัดปลูกผมนั้น หมอปลูกผมบางคนบอกไม่จำเป็นเพราะมีความชำนาญในการแยกว่าผมส่วนไหนเป็นธรรมชาติ ส่วนไหนที่ขึ้นมาจากยากระตุ้น
  • การทำศัลยกรรมปลูกผมในคนที่มีผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์ไม่ควรทำในขณะที่อายุยังน้อยกว่า 28 ปี เพราะการทำศัลยกรรมเร็วเกินไปในขณะที่กระบวนการทำลายรากผมจากฮอร์โมน DHT ยังเดินหน้าต่อเนื่องในอัตราที่สูงอยู่จะทำให้เสียโอกาสอาจจะต้องกลับมาทำศัลยกรรมซ้ำในภายหลังเพราะว่าตำแหน่งที่ผมบางยังไม่หยุดนิ่งยังขยายไปเรื่อยๆ ดีที่สุดมีการกล่าวไว้ว่าตำแหน่งที่ผมบางควรจะคงที่ไม่มีการขยายเพิ่มแล้วต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3 ปี
  • การเลือกหมอศัลยกรรมปลูกผม ในประเทศไทยมีหมอที่ทำกันเป็นกิจลักษณะไม่กี่แห่ง มีข้อสังเกตให้ใช้ประกอบการพิจารณาคือ เลือกหมอศัลยกรรมปลูกผมที่ทำแต่เรื่องปลูกผมเท่านั้น เพราะการทำศัลยกรรมปลูกผมเป็นหัตถการที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านแบบพิเศษและผลการทำผ่าตัดจะออกมาดีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับศัลยแพทย์ปลูกผมเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่ยังขึ้นอยู่กับทีมผู้ช่วยแพทย์ที่จะเป็นผู้เอารากผมแต่ละรากมาปักปลูกในบริเวณที่ผมบาง ถ้าคลินิกไหนมีการทำหัตถการหลายๆ อย่างอาทิ เสริมจมูก ดึงหน้า ตัดกรามแต่งคาง เสริมเต้านม ทำตาสองชั้น ฯลฯ มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามหลายๆ อย่างโดยแพทย์คนเดียวกัน โปรดพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่ท่านจะเลือกทำศัลยกรรมในที่แห่งนั้น ถ้าลองเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านที่ต้องตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นงานละเอียดที่สุดต้องการความสวยงามที่สุด คุณคงไม่เลือกเอาช่างที่เป็นสารพัดช่างทำงานทั้ง ช่างประปา ช่างปูน ช่างไฟฟ้าหรือแม้แต่กระทั่งงานแบกหามทั่วไป คงไม่เลือกเอาสารพัดช่างมาทำงานเฟอร์นิเจอร์ คงต้องหาช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างไม้โดยเฉพาะ งานศัลยกรรมปลูกผมก็เช่นเดียวกันคงต้องพิจารณาหมอที่ทำศัลยกรรมปลูกผมโดยเฉพาะเพียงอย่างเดียว
  • อย่าเลือกทำศัลยกรรมปลูกผมโดยพิจารณาเฉพาะราคาค่าปลูกที่มีราคาถูกเท่านั้น เพราะการทำศัลยกรรมปลูกผมเป็นเหมือนศาสตร์และงานศิลป์ เหมือนภาพเขียนที่ราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ซื้อ ราคาในประเทศไทยถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศส่วนราคาค่าปลูกผมส่วนใหญ่จะคิดตามปริมาณรากผมหรือกอผม(graft) ที่ย้ายมาปลูก เฉลี่ยมาตรฐานอยู่ประมาณ 80 - 150 บาท/graft
  • การทำการปลูกผมเทคนิคที่เรียกว่าไร้แผลผ่าตัดหรือซ่อนแผลผ่าตัด (FUE - Follicular Unit Extraction/Excision) เป็นเทคนิคใหม่ที่ไม่เห็นแผลเป็นแบบแนวนอนที่บริเวณท้ายทอย ปัจจุบันในประเทศไทยการทำศัลยกรรมปลูกผมด้วยวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือที่จะไปหยิบเอารากผมแต่ละรากบริเวณท้ายทอยออกมา ทำให้ผลการผ่าตัดยังสู้แบบมาตรฐานที่มีแผลผ่าตัดไม่ได้ อีกทั้งการใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบนี้จะเสียเวลามาก ไม่เหมาะกับการทำผ่าตัดปลูกผมในพื้นที่ศีรษะล้านขนาดกว้างและมีการใช้รากผมเกินกว่า 1000 grafts (การทำผ่าตัดแบบนี้เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำว่าไร้แผลผ่าตัด จริงๆ แล้วมีแผลผ่าตัดเหมือนกันแต่แผลเล็กมากจึงไม่ต้องเย็บ แผลเป็นก็มีแต่เล็กมากจะมองเห็นถ้าตัดผมสั้นเห็นเป็นลักษณะจุดๆที่ท้ายทอย)
  • ไม่ใช่ทุกรายที่จะแก้ปัญหาผมบางด้วยการทำศัลยกรรมได้ การประเมินต้องพูดคุยกับศัลยแพทย์เป็นรายๆไปที่สำคัญผมบริเวณท้ายทอยถ้ามีปริมาณมากและเส้นใหญ่ผลการผ่าตัดจะดีกว่าและสวยกว่า ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า


แชร์บทความหน้านี้